จากกรณี
การทุ่มเถียง เรื่องความถูก-ผิด
ประเด็นธรรมในพระพุทธศาสนา
เมื่อวาน
ที่จริง
เพื่อนๆ บอก มีก่อนหน้านี้อีก
และ
แน่นอน ว่าจะเกิดตามมาอีก
ผมมาใคร่ครวญ
แล้วนึกถึง ๒ เรื่อง คือ
พระสูตร
“สัทธรรมปฏิรูปกสูตร” ๑
และ
การ “กล่าวตู่ พระสัทธรรม” ๑
ในเรื่อง
สัทธรมปฏิรูป ... เรื่องย่อมีว่า
ท่านพระมหากัสสปเฝ้าพระพุทธองค์
แล้ว ปุจฉา ...
“อะไรหนอ
เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เมื่อก่อน
สิกขาบทมีน้อย
แต่ผู้บรรลุอรหัตผลมีมาก
อะไรหนอ
เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่ปัจจุบันนี้
สิกขาบทมีมาก
ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผลมีน้อย”
พระพุทธองค์
ท่านทรงตรัสวิสัชนา ...
“...เมื่อหมู่สัตว์เลวลง
พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป
สิกขาบทจึงมีมาก
ภิกษุผู้ตั้งในอรหัตผลจึงน้อยลง
สัทธรรมปฏิรูป
ยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้น
พระสัทธรรม ยังไม่เลือนหาย
สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด
เมื่อนั้น
พระสัทธรรมแท้ จึงเลือนหาย ...”
“...
ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ยังให้พระสัทธรรม
เลือนหายไปไม่ได้
...
ที่แท้
โมฆบุรุษ ในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมา
ก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป
เปรียบเหมือน
เรือจะอัปปางก็เพราะต้นหน
เท่านั้น ...”
เรื่องที่ท่านพระมหากัสสปะ
ปุจฉา
ทำให้หวนนึกถึงคำ
เหลาจื่อ ใน เต้า เต๋อ จิง ที่ว่า ...
“กฎหมายยิ่งมาก
โจรผู้ร้ายยิ่งชุกชุม”
นี่
สำนวนแปล ของพจนา จันทรสันติ
อันนี้
ผมดัดแปลง ชอบใช้ ใช้บ่อย
“กฎหมายยิ่งมาก
บ้านเมืองยิ่งยุ่งเหยิง”
อีกเรื่องหนึ่ง
... การ “กล่าวตู่”
ผมไปได้ความรู้มาจากท่าน
ปยุต ปยุตฺโต
ในหนังสือพจนานุกรมของท่าน
มีว่า ...
“กล่าวตู่พระพุทธเจ้า” หรือ
“ตู่พุทธพจน์”
หมายความว่า อ้างผิดๆ ถูกๆ, กล่าวสิ่งที่ตรัส
ว่ามิได้ตรัส กล่าวสิ่งที่มิได้ตรัส ว่าได้ตรัสไว้,
พูดให้เคลื่อนคลาด หรือไขว้เขว ไปจากพุทธดำรัส,
พูดใส่โทษ, กล่าวข่มขี่, พูดกด
เช่น คัดค้านให้เห็นว่า ไม่จริงหรือไม่สำคัญ ...
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ทั้งหมด
มันก็อยู่ที่
ทิฏฐิ (ความเห็น) เพราะต่างก็กล่าวว่า
ความเห็นของตน
ของอาจารย์ตน นี้แหละถูกต้อง
อันนี้
บอกตรงๆ ว่า “จนด้วยเกล้า” พิจารณากันเอง
เพียงแต่ มีเรื่อง สมัยพุทธกาล เป็นอุทธาหรณ์
คราที่
พระเทวทัต ขัดแย้งกับพระพุทธองค์
และต้องการแยกกลุ่มไปตั้ง
ลัทธิ แห่งตน
พูดง่ายๆ
ขอไปเป็นใหญ่ เป็นศาสดา กับเขาบ้าง
ครั้งนั้น
มีภิกษุมากถึง ๕๐๐ รูปติดตามไป
(เห็นไหมล่ะ
พระเทวทัต ท่านก็ “มีดี” นะครับ)
พระพุทธองค์
(มิใช่ด้วยความ อิจฉา แต่เป็น เมตตา)
ทรงตรัส
ให้พระสารีบุตร ไปตามภิกษุเหล่านั้นกลับ
และนี่เป็นที่มาที่พระพุทธองค์ท่านสรรเสริญ
พระสารีบุตร
ว่าเป็นยอดแห่ง ธรรมทูต
เล่นเอา
ท่านพระเทวทัต ถึงกระอักโลหิต
เรื่องนี้
ก็ต้องยกให้เป็นเรื่อง ปัจจัตตัง (อีกแล้ว)
ใครจะเป็นฝ่ายเทวทัต
ใครจะเป็นฝ่ายพระพุทธองค์
มีแต่
“ปัญญา ๓” สุตะ จินตะ ภาวนา ของแต่ละท่าน
เท่านั้น
ที่จะพิจารณาเองได้ ... มิอาจก้าวก่าย
หากไม่ก้าวก่าย
ฝ่ายหนึ่งเกรงว่า
เดี๋ยว เลยเถิด คำสอนนี้จะเลยเถิด
ผู้คนสับสน
ไขว้เขว ...
งั้นถาม
... เลยเถิดแล้วอย่างไร? ไขว้เขวแล้วอย่างไร?
เพราะ
... สิ่งที่ต้องเกิด ... เกิดแน่
มิเช่นนั้น
พระพุทธองค์ท่านไม่กล่าวถึง “สัทธรรมปฏิรูป”
วางเรื่องของผู้อื่น
แล้วมาเข้มงวดกับตนเถิดครับ
ผมยังยืนยันพุทธพจน์
ในธรรมบท ที่ชอบใช้เป็นที่สุด
น
ปเรสํ วิโลมานิ น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตนาว
อเวกฺเขยฺย กตานิ อกตานิ จ
อย่าไปสอดส่าย
เรื่องของผู้อื่นเลย
สิ่งไหนที่เขาทำไปแล้ว
สิ่งไหนยังไม่ได้ทำ
พิจารณาแต่กิจของตนเถิด
สิ่งไหนได้ทำแล้ว
สิ่งไหน ยังมิได้ทำ
(อย่าโกรธกันนะครับ
นี่พระพุทธพจน์ ของแท้)
สุดท้าย
... เหมือนเดิม ...
ขอความเจริญในพุทธธรรมจงประสบแก่ท่านทั้งหลาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น