วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 10, 2557

Anger – โทสะ

อวิชชา หรือ ความหลง มีองค์ธรรมคือ โมหะ
โมหะ นี้แหละ เป็นพื้น เป็นราก ของความชั่วทั้งปวง
“สังขาร” กลุ่มโมหะ ที่ครอบงำให้จิต หลง คือ
อหิริกะ – ความไม่ละอายต่อบาป
อโนตัปปะ – ความไม่กลัวต่อผลของการกระทำบาป
อุทธัจจะ – ความฟุ้งซ่าน ขาดสติ


 







ผัสสะ – การกระทบของจิตรู้ กับอารมณ์ทั้งหลาย
นำมาซึ่ง “เวทนา” คือ เข้าไปรับอารมณ์นั้น

จึงเกิดความพอใจ ไม่พอใจ
เกิดเป็น ราคะ เกิดเป็น โทสะ
นั่นเพราะ อวิชชา เป็นตัว มหาเหตุ แท้ๆ

เมื่อเกิดราคะ พอใจในกาม คือ
สี, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งสัมผัส, และ อารมณ์
อยากได้มาก จนเกิดเป็น การเข้าไปยึด “อุปาทาน”
เมื่อ “ยึด” มาก จึงพยายามทุกวิธี ที่จะให้ได้มา
ซึ่ง “กาม” อันเป็นที่พอใจ ชอบใจ ของตน

ครั้น มิได้ดั่งที่หวัง ดั่งที่ปรารถนา
แน่นอน ย่อมนำมาซึ่ง โทมนัส คือ ความโกรธ เกลียด
ความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ด้วยมิได้ดั่งหวัง

ตัวปรุง ของความโกรธนี้ ก็คือ
อิสสา ความอิจฉา ไม่อยากให้ใครอื่นได้ดีกว่า
มัจฉริยะ ความตระหนี่ ไม่ต้องการให้คนอื่นมาครอบครอง
กุกกุจจะ คือความหงุดหงิด ความรำคาญใจ

“ปรุง” จนเป็น “เพลิงแห่งโทสะ”
เป็นเพลิงแห่งการทำลายล้าง

ทั้งหมด ทั้งปวง นั่นเพราะ “วิปลาส”
คือความคลาดเคลื่อนไปจาก ธรรม ที่เป็นจริง
มีความเห็นผิด (ทิฏฐิวิปลาส)
มีความรู้ผิด (จิตวิปลาส)
มีความจำผิด (สัญญาวิปลาส)

เห็นผิด รู้ผิด จำผิด อะไร?
ก็ ธรรม ที่เป็นจริง นั่นสิ ... ความจริงที่ว่า รูปนาม ที่เห็น ...

มันไม่ได้ สวยงาม (อสุภ)
มันไม่ใช่สุข (ทุกข์)
มันไม่จีรัง ยั่งยืน (อจีรัง อนิจจัง)
มันไม่มี ตัวเขา ตัวเรา ของเขา ของเรา (อนัตตา)

เมื่อไม่มีการยับยั้งชั่งใจ 
ไม่พิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการ
ย่อม “หลง” จนนำไปสู่การทำลายล้าง
จนนำไปสู่ความเสียหาย ทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น
เช่นนี้ มิใช่วิถี ของผู่ไฝ่ธรรม ประพฤติธรรม

แล้วจะทำเช่นไรกับผู้ที่ หลง นี้หรือ?
พรหมวิหาร ๓ เป็นธรรมที่พึงพิจารณา

เมตตา ด้วยเห็นว่า หลงผิดไปแล้ว เข้าใจ และอยากช่วยเหลือ
กรุณา หากสามารถยื่นมือเข้าช่วยปลอบโยน ให้สติ
อุเบกขา เมื่อเห็นว่าไม่สามารถแสดงความกรุณาได้

แล้วจึงต้องภาวนา ให้ผู้นั้นได้มีโอกาส เข้าใจ
เห็น ธรรม ที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง
ละ โมหะ ที่มีอยู่ในจิตเสีย ...

นี่ก็นับเป็น กุศลกรรม อย่างหนึ่งที่พึงสร้าง พึงกระทำ

ต่อเพื่อนร่วม สังสารวัฏฏ์ เดียวกันนี้ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: