เท่าที่ได้คุยกับมิตรสหายหลายท่าน
ต่างบอกสนใจในธรรม อยากจะศึกษา และปฏิบัติธรรม
... แต่อยากจะขอไปปฏิบัติตอนช่วงท้ายของอายุ
ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สมควรอนุโมทนาบุญนี้ด้วย
หากแต่
ติดใจตรงที่ว่า ... ใยต้องรอ ช่วงปลายของอายุ
แสดงว่ากำหนดอายุตนได้แล้วหรือ? ... หรือใช้ “เกณฑ์เฉลี่ย”
จริงๆ แล้วในทางพุทธธรรม
มี “เรื่อง” ที่มิอาจคาดได้หลายเรื่อง
“มรณกาล” (เวลาตาย) เป็นเรื่องที่มิอาจคาดเอาได้
“สถานที่ที่จะถึงแก่มรณกาล” ก็มิอาจกำหนดได้
“คติ”
คือที่ที่จะไป หลังจากมีมรณกาลแล้ว ก็ไม่อาจรู้ได้
สมัยที่บวชอยู่ที่อ่างทอง
...
หลวงพ่อซึ่งเป็นพระอุปัชฌาจารย์
ท่านจะโพล่งขึ้นเสมอๆ
ท่ามกลางสงฆ์
และประชาชนในวันพระ ที่ผู้คนมาทำบุญ
... "เฮ้ย ...
เตรียมสัมภาระกันหรือยัง ? ...
รถจะไป
เรือจะมา เขาไม่รอท่านะ ... อย่าประมาท"
ซึ่งที่จริง หลวงพ่อท่านก็ได้มาจาก
ปัจฉิมโอวาท ของพระพุทธองค์ ที่ว่า...
วยธมฺมา
สงฺขารา ... อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
สังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง
...
จงยังตนให้ถึงพร้อมซึ่งความไม่ประมาท
เรื่องการจะเลื่อนเวลาปฏิบัติไปเป็นช่วงท้ายของชีวิต
ก็อย่างที่ว่ามาข้างต้น
เราเองยังไม่อาจรู้ได้ ถึงความไม่แน่นอน
ใยไม่เตรียม
เสียแต่ตอนนี้ล่ะครับ?
ศึกษา-ปฏิบัติ
นี่มันไม่ต้องใช้เวลานานนักก็ได้ครับ?
ค่อยๆ สั่งสมไปเรื่อยๆ ...
แต่ตามจริงที่ผมเห็น ... ในปัจจุบัน
หลายๆ ท่าน
ใช้เวลาส่วนใหญ่ “หน้าจอ” facebook, Line
หรือ online
media อื่นๆ เกือบทั้งวัน แถมต่อถึงยามค่ำคืนด้วย
ถ้าเราแบ่งเวลา
(ก็เห็นพูดเช่นนี้ กันทั้งนั้น) จริงๆ ...
เอาแค่
ตื่นนอน – ก่อนนอน
พิจารณาตน
พิจารณาเรื่องราวที่ผ่านมาแต่ละวัน
เราได้อะไร
เราสูญเสียอะไร ไปบ้างหรือเปล่า?
ชีวิตเรา
และครอบครัว ดีขึ้นไหม หรือแย่ลง?
มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจมากไหม?
ปัญหา
การเรือน (ครอบครัว) – การงาน แก้ได้ไหม?
... ฯลฯ ...
ค่อยๆ คิด
ค่อยๆ ทำ ไปทุกวัน
นั่นแหละ พิจารณา
“ธรรม” แล้ว
จนเมื่อเกิดเป็น “นิสสัย” ไฝ่ทางพุทธธรรม
ก็พิจารณา
ศึกษา และปฏิบัติ เพื่อหา “ทางออก” ที่แท้
แล้วมันจะค่อยๆ
เพิ่มเวลา ในการ “ศึกษา - ปฏิบัติ” ขึ้นมาเอง
โดยส่วนตัว
ขอเน้นว่า
ทุก “อิริยาบถ” ในชีวิตประจำวัน
ล้วนเป็นเวลา
“ศึกษา-ปฏิบัติ” ทั้งสิ้น
พิจารณาเรื่อง
“ตัวเรา” “สิ่งที่กำลังตรึกตรอง นึกถึงอยู่”
แม้ในเวลา
“ถ่ายทุกข์” (ขออภัย)
ส่วนตัว ผมก็ใช้ช่วงนี้ พิจารณา
“กายคตาสติ” ได้ดีที่สุด
เพราะเจ้า
“มุตฺตํ” (ปัสสาวะ) และ “กรีสํ” (อาหารเก่า - อุจจาระ)
มัน
“มีอยู่ในกาย” มันเป็น “ปฏิกูล” แม้เราเองยัง “รังเกียจ”
คนอื่นๆ ก็มี ทุกสัตว์ มีทั้งสิ้น
แม้ภายนอก จะเห็นเป็น “ความงดงาม”
แต่ภายในล้วนเป็น
“ปฏิกูล” ความไม่สะอาดทั้งสิ้น
พิจารณาบ่อยๆ
มันก็จะ ละ “สุภวิปลาส”
คือความเข้าใจผิดที่เห็น
ว่าสวย ว่างาม ในตัวสัตว์ ได้
นี่แหละ
“ปฏิบัติ” ด้วยการพิจารณาแท้จริง
คือกระผม
“เน้น” การพิจารณาเพื่อเกิด “ปัญญา” นะครับ
เพราะ “ปัญญา”
เท่านั้น ที่จะนำสู่การหลุดพ้น สู่สงบที่แท้
ปฏิบัติแนวนี้
ย่อมมิได้ “อภิญญา” เป็นผู้ทรงฤทธิ์ แน่นอน
คือ ผมเห็นว่า เมื่อได้ฤทธิ์แล้ว ... มันก็จะอยากได้ฤทธิ์เพิ่ม
มันก็เป็น
“ตัณหา” ความทะยานอยากชนิดหนึ่ง
ผมจึงไฝ่แนว
“ปัญญา” น่ะ ครับ ...
ที่สำคัญ
ศึกษา ตอนนี้ ปฏิบัติ ตอนนี้ ไปเลย
ใยต้องรอ
บั้นปลายชีวิต ที่ไม่รู้มันจะมาเร็วมาช้า
หรือถึงมันมาช้า
ตอนนั้น จะพิจารณา ศึกษาปฏิบัติ
หรือไม่
ก็ยังไม่รู้ ด้วยว่า คงจะมี บั้นปลายที่ยาวนานกว่านั้นอีก
ก็เอาเถิดนะครับ
ตามสะดวก แต่ละท่าน
ส่วนผม
ไม่รอแล้ว ขอล่วงหน้าไปล่ะนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น