วันศุกร์, มิถุนายน 20, 2557

อวิชชา - ตัณหา

ได้อ่านข้อเขียนน่าสนใจเรื่องหนึ่ง ...

มีนักมานุษยวิทยา ศึกษาและสอบถามชาวเอสกิโมเผ่าหนึ่ง 
ถึงวัฒนธรรมด้านความเชื่อทาง ศาสนา ลัทธิ
ที่ส่งผลในด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิต
ในตอนท้าย ผู้อาวุโสของชนเอสกิโมเผ่านั้น ก็สรุปว่า 
"จริงๆ แล้ว ... เราไม่ได้เชื่อหรอก ... เรา “กลัว” ต่างหาก"

ซึ่งตรงกันกับคำตรัสของพระพุทธองค์
ที่ว่า ที่ได้มาถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนี้
เริ่มต้นจาก “ความกลัว” ...
กลัวความเป็นธรรมชาตินี่แหละ ...
กลัวความแก่ (aging), ความป่วยไข้ (illness),
ความตาย (death), และความพลัดพราก (separation)
จึงต้องการเป็นอิสระ พ้นไปจากธรรมชาติเหล่านี้ ...
(ข้อมูลนี้ อ่านมาจาก Access to Inside ครับ)

จะเป็นอิสระจาก ธรรมชาติเหล่านี้ ได้อย่างไรหรือ?

จริงๆ แล้ว สรรพสัตว์ ไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ไปจาก “ธรรม” เหล่านี้ได้ ... ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญ
แต่ที่ว่าเป็น “อิสระ” นั้น พระพุทธองค์ทรงหมายถึง ...
การตัด “วงจร” ที่เป็นต้นเหตุ แห่งธรรมชาติเหล่านี้ ต่างหาก

ที่สัตว์ต้องชรา, เจ็บป่วย, ตาย, และพลัดพรากนั้น
ล้วนมาจาก “ธรรม” สิ่งเดียวคือ “ชาติ (ชา-ติ) – การกำเนิด”
เมื่อได้ถือกำเนิดแล้ว ไม่มีทางที่ "สัตว์" เลี่ยงพ้นธรรมชาตินี้ได้.

พระพุทธองค์ท่านจึงพิจารณาย้อนไปว่า “อะไรเป็นสาเหตุ”
และ “อะไรเป็นสาเหตุ ของสาเหตุ...” เป็นลำดับขึ้นไป
อันเป็นที่มาของหลัก อิทัปปัจจยตา ... หรือที่รู้กันในชื่อ
“ปฏิจจสมุปปาท”

ในหลักนี้ หากได้ศึกษา จะรู้ว่าซับซ้อนมาก
(ยังไม่นับเรื่อง ปัจจัย ๒๔ ที่เข้ามาเกี่ยวพันอีก)
มีเรื่อง กาล ๓, องค์ ๑๒, อาการ ๒๐, เงื่อน ๓,
สังเขป ๔, วัฏฏะ ๓, และ มูล ๒ ... เยอะ เยอะมากๆ

เอาเป็นว่า สนใจเรื่องแค่ “มูล หรือ เหตุ” ๒ ก็พอ
เหตุ ๒ แห่งวงจรการเวียนเกิดเวียนตายตามปัจจัยนี้คือ ...
อวิชชา ๑ และ ตัณหา ๑

อวชิชา – ความไม่รู้ ไม่รู้อะไร?
ไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ
ไม่รู้ทุกข์ ๑, ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ๑, ไม่รู้การดับทุกข์ ๑,
ไม่รู้แนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ถึงซึ่งการดับทุกข์ ๑
ทั้งหมดนี่ก็คือ “อริยสัจจ์”

ไม่รู้ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ในปัจจุบัน ๑ ในอดีต ๑
ทั้งในปัจจุบันและในอดีต ๑ และ ปฏิจจสมุปปาท ๑

แล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ไม่คุ้นเลย
ก็ศึกษานะขอรับ ... เดิม ผมก็ไม่คุ้น

ตัณหา – ความทะยานอยาก
อันนี้ก็มี ๓ รายการ คือ ...
กามตัณหา – ความอยากในกาม คือใน
สี เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และ ธรรม (เรื่อง) ที่คิด
ภวตัณหา – ความอยากที่จะคงอยู่ในสภาวะที่พอใจ
วิภวตัณหา – ความอยากที่จะไปให้พ้นจากสภาวะที่ไม่พอใจ

สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการ “ความสุข” คือความชอบใจพอใจ
iPhone, iPad, BMW, Mercedes Benz, Bentley,
Christian Dior, Channel, ภัตตาคารเลิศหรู (ไม่รู้ชื่อ),
อะไรก็ได้ ที่จะแสดงความเป็น elite ชนชั้นสูงให้ตนได้
ทั้งหมดนี่แหละ “กามตัณหา” อันนี้เป็น “ราคะ” และ “โลภะ”

เมื่อได้ ก็พอใจชอบใจ ในสภาพเช่นนั้น ไม่อยากพรากจากไป
อันนี้ก็เป็น “โลภะ” และ “โมหะ”

เมื่อไม่ได้ ต้องนั่งกินข้าวกับผักจิ้มน้ำพริก, นั่งรถเมล์ไม่ติดแอร์,
ใช้ Sumsung Hero, ฯลฯ   ก็เกิดความไม่พอใจ ไม่ชอบใจ
ก็เกิด “วิภวตัณหา” อยากจะพ้นไปจากสภาพนี้เสียที
อันนี้ก็เป็น “โทสะ” และ “โมหะ”

ไอ้ “โมหะ” นี้แหละ อวิชชา
คือหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง

ชัก “ยาว” มากแล้ว ... เอาไว้มาว่ากันคราวต่อๆ ไป

ไม่มีความคิดเห็น: