เมื่อวานนี้ "คุณลุงสีทัน" เพื่อนบ้านที่ไม่พบกันนาน ๓-๔ ปี (ก่อนน้ำท่วมบ้าน ปี ๔๔)
แวะมาหน้าบ้าน เลยเรียนเชิญเข้ามาคุยกัน
ท่านมีอาชีพอิสระคือ ดูดวง ให้กับผู้คน โดยใช้เลขฐาน ๗ หรืออะไรทำนองนี้
เราก็อยากอนุเคราะห์ท่าน พร้อมทั้งมีใจ "อยาก" ดูดวง ด้วยนั่นแหละ
ท่านก็ว่าตรงไปตรงมา มีอยู่เรื่องหนึ่งที่สะดุดก็คือ ท่านว่า ช่วงนี้ให้ระวังสุขภาพ
โรคจากการปวดท้อง และปวดขา
ปวดท้อง - คงไม่ขนาดนั้น แต่ปัญหาท้องผูก แม้ไม่มีอาการปวด มันก็แย่ อึดอัด
ปวดขา - อันนี้ ของจริงเลย บางครั้งมันเหมือนโดนเข็มแทงนานมากๆ เจ็บมากๆ
คุณลุงสีทัน ท่านก็ขอให้สวดมนต์ ทำบุญเยอะๆ
เราก็ไม่ได้บอกท่านหรอกว่า เราทำวัตรเช้า - เย็น มนต์ตั้งหลายบทที่ใช้สวด
อาจเป็นเพราะ "อกุศลวิบาก" เรื่องเบียดเบียน หรือเอาชีวิตสัตว์ ในภพชาติเก่า
เขาก็คงตามมาทวงเอาคืน ก็ต้องอดทน และไม่ผูกเวรเพิ่ม ก็เท่านั้น
เรื่องเจ็บไข้นี่ ก็เลยทำให้นึกถึงพระสูตรสำคัญอันหนึ่ง คือ...
คิริมานนฺทสุตฺต หรือรู้จักกันในชื่อ อาพาธสูตร – สูตรว่าด้วยความป่วยไข้
เรื่องก็คือ
พระอานนท์ท่านขอให้พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระคิริมานันทะ
ผู้ซึ่งอาพาธหนัก
โดยหวังว่าเมื่อพระองค์เสด็จเยี่ยมแล้ว อาการจะดีขึ้น
แต่พระพุทธองค์ท่านขอให้พระอานนท์
จำพระสูตรที่จะกล่าวนี้ แล้วไปแสดงแทน
พระอานนท์ท่านมี “สัญญา”
คือความจำเป็นเลิศ แม้ได้ฟังเพียงครั้งเดียว ก็สาธยายได้
พระสูตรนั้นว่าด้วย “สัญญา ๑๐ ประการ”
คือ
๑. อนิจจสัญญา
– ว่าด้วยความไม่เที่ยงแห่งขันธ์ทั้ง ๕
๒. อนัตตสัญญา
– ว่าด้วยความไร้ซึ่งตัวตน เหนือการควบคุม บังคับบัญชาของผู้ใด
๓. อสุภสัญญา
– ว่าด้วยความไม่สะอาดมีอยู่ในกาย มีธาตุดิน ๒๐ ธาตุน้ำ ๑๒
๔. อาทีนวสัญญา
– ว่าด้วยความที่เต็มไปด้วยโรคภัย ในกายนี้ มีทุกข์ มีโทษมาก
๕. ปหานสัญญา
– ว่าด้วยความเพียรในการละเสียซึ่ง กาม พยาบาท และ วิหิงสา
๖. วิราคสัญญา
– ว่าด้วยธรรมชาติที่สงบ ที่ได้สำรอกกิเลสอันหมักหมมออก
๗. นิโรธสัญญา
– ว่าด้วยธรรมชาติอันสงบ ที่ดับกิเลสแล้วโดยไม่เหลือ
๘. สัพพโลเก
อนภิรตสัญญา – ละอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่นของกิเลส
๙. สัพพสังขาเรสุ
อนิฏญสัญญา – ว่าด้วยความไม่พึงใจในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานสติ
– ว่าด้วยการดำรงสติมั่นในการพิจารณาลมหายใจเข้าและออก
เมื่อพระอานนท์นำพระสูตรไปแสดงให้สดับแล้ว
ท่านคิริมานันทะ ก็หายจากอาพาธ
ทั้งหมดที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ล้วนเป็น
ธรรมชาติ แห่งรูปนาม ทั้งสิ้น
แม้เพียงจับเอาเรื่องใดมาพิจารณาให้ถ่องแท้
ก็สรุปลง ที่รูป ที่นาม นี่แหละ
แล้วก็ไปสรุปลงตรงที่ มันไม่เที่ยง
(อนิจจัง) ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกข์)
อยู่เหนือการบังคับบัญชาของผู้ใด จึงไร้ความเป็นตัวตน
(อนัตตา)
เช่นว่า เรื่อง อาการ ๓๒ (ข้อ ๓)
มีอีกพระสูตรหนึ่งต่างหากชื่อ... ทวัตติงสาการปาฐะ ... ได้ความว่า
กายของเรานี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา
เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยของไม่สะอาด อยู่ในกายนี้
ธาตุดิน ๒๐:
ผม
ขน เล็บ ฟัน
หนัง
เนื้อ
เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หัวใจ
ตับ พังผืด ไต
ปอด
ใส้ใหญ่ ใส้น้อย
อาหารใหม่ อาหารเก่า สมอง
ธาตุน้ำ ๑๒ :
น้ำดี
เสมหะ น้ำเหลือง เลือด
เหงื่อ มันข้น
น้ำตา
มันเปลว น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ ปัสสาวะ
ถ้าจะว่าไปแล้ว แม้กายภายนอกที่เราเห็น
ก็สกปรก
มีขี้ (ขออภัย) แต่หัวจรดเท้า ขี้รังแค, ขี้ตา, ขี้หู, ขี้มูก,
ขี้ฟัน, อุจจาระ, ปัสสาวะ, ขี้ไคล
แม้จะชำระล้างให้ดูรู้สึกสะอาด
แต่พึงพิจารณาว่า
ความสกปรกในกายทั้งนอก-ใน
มีอยู่ตลอดเวลา
ชำระล้างแล้ว ก็มีอีก ...
พิจารณามากเข้าๆ ก็จะเห็น จะเข้าใจใน “อสุภสัญญา”
คือความไม่สะอาด ดุจซากศพ
จิต มันก็จะค่อยคลายจาง จาก สุภสัญญา –
ที่ไปเห็นว่ารูปสวย รูปงาม
พิจารณาบ่อยๆ ที่เรียกว่า พหุลี กตา
(ทำบ่อยๆ) มันก็เกิดสติ
และมีทางที่จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า
“นิพพิทาญาณ” คือรู้หน่ายในกองสังขาร
คืนนี้ ก็จะ พิจารณาเรื่อง อสุภสัญญา
และ อาทีนวสัญญา ก่อนนอน
นี่คือ ธรรมชาติ
ต้องเป็นไปตามเหตุ-ปัจจัย ตามวิบากแห่งกรรม
ขออำนาจแห่งพระพุทธธรรม หนุนส่งให้มีความสงบแห่งจิตด้วยเทอญ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น